Categories
News

ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย

เราสามารถแบ่งระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย ได้เป็น 2 ส่วน โดยแยกตามลักษณะการทำงาน คือ

  1. ระบบป้องกันอัคคีภัย
    มีไว้เพื่อคอยตรวจสอบสิ่งผิดปกติที่อาจจะส่งผลให้เกิดอัคคีภัยและแจ้งเหตุให้ทราบ ซึ่งอุปกรณ์ที่ป้องกันการเกิดอัคคีภัยหรืออุปกรณ์แจ้งเหตุ เช่น อุปกรณ์ตรวจจับควัน (Smoke Detector) อุปกรณ์ตรวจจับความร้อน (Heat Detector) อุปกรณ์แจ้งเหตุด้วยมือ (Manual Call Point) อุปกรณ์แจ้งเหตุด้วยแสง (Strobe Light) และอุปกรณ์แจ้งเหตุด้วยเสียง (Bell) เป็นต้น
  2. ระบบระงับอัคคีภัย
    มีไว้เพื่อควบคุมอัคคีภัยไม่ให้ลุกลามหรือดับอัคคีภัย โดยมีอุปกรณ์ที่ใช้ควบคุมและดับอัคคีภัย เช่น ระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงแบบอัตโนมัติ (Sprinkler System) สายฉีดน้ำดับเพลิง (Fire Hose Cabinet) ถังดับเพลิง (Fire Extinguisher) และระบบก๊าซดับเพลิง (Gas Suppression System) เป็นต้น

ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย จำเป็นต่อชีวิตและทรัยพ์สิน ดังนี้

  1. ช่วยให้บุคคลที่อยู่ในสถานที่ สามารถทราบถึงเหตุการณ์อัคคีภัยได้ตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้มีเวลามากพอสำหรับการอพยพ
  2. การตรวจพบอัคคีภัยได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที ช่วยลดความเสียหายต่อทรัพย์สิน และสามารถควบคุมเหตุการณ์ไม่ให้ลุกลามเป็นวงกว้าง และลดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ
  3. ความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR – Corporate Social Responsibility) เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง ไม่เพียงแต่บุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์ได้รับผลกระทบเท่านั้น ย่อมส่งผลถึงครอบครัวของบุคคลเหล่านั้นด้วย อีกทั้งมลพิษที่เกิดขึ้น อาจส่งผลต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัยที่มีประสิทธิผล หมายถึง เมื่อเกิดอัคคีภัยขึ้นสามารถทำงานได้ตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ ชีวิตปลอดภัย ทรัพย์สินเสียหายน้อยที่สุด ธุรกิจดำเนินต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญตั้งแต่การออกแบบ ควบคุมการติดตั้ง และทดสอบระบบให้เป็นไปมมาตรฐานสากล รวมทั้งการตรวจสอบและบำรุงรักษาให้ระบบพร้อมใช้งานตลอดเวลา

การออกแบบ ควรเลือกระบบให้เหมาะสมกับลักษณะของอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ มีการแจ้งเตือนที่เหมาะสม เช่น มีระบบตรวจจับในตำแหน่งที่เหมาะสม ลักษณะของเชื้อเพลิง หรือชนิดของอุปกรณ์ควบคุมเปลวเพลิง เช่น ในห้องอุปกรณ์ไฟฟ้าควรเลือกใช้ระบบก๊าซดับเพลิง เลือกชนิดของสารดับเพลิง หรือเครื่องสูบน้ำดับเพลิงให้สอดคล้องกับลักษณะถังสำรองน้ำดับเพลิง เป็นต้น

ควบคุมการติดตั้ง ให้สอดคล้องกับการออกแบบและสามารถใช้งานได้ เช่น ตำแหน่งของหัวจ่ายน้ำดับเพลิง (Hydrant) ต้องสามารถเข้าไปใช้งานได้สะดวกและปลอดภัย การติดตั้งอุปกรณ์ประเภทป้องกันการระเบิด (Explosion Proof) ต้องติดตั้งแบบระบบปิดทั้งหมด เป็นต้น

ทดสอบระบบ ในทุก ๆ เหตุการณ์อันอาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น ระบบสั่งการแบบอัตโนมัติและระบบสั่งการแบบบุคคลสำหรับเครื่องสูบน้ำดับเพลิง ระบบสั่งการแบบอัตโนมัติและระบบสั่งการแบบบุคคลสำหรับระบบก๊าซดับเพลิง เป็นต้น

การตรวจสอบและบำรุงรักษา ตามมาตรฐาน เช่น ตรวจสอบรูปแบบการกระจายของสารดับเพลิงของหัวกระจายแบบอัตโนมัติ (Sprinkler system) ของทุกปี ตรวจสอบสภาพชิ้นส่วนภายในของวาล์วควบคุมระบบกระจายน้ำดับเพลิงแบบฝอย (Water spray System) ทุกปี เป็นต้น